วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มติชน คอลัมน์: เดินหน้าชน: 'ซูเปอร์เค'


โดยเสาวรส รณเกียรติ

          ช่วงปี พ.ศ.2490 เศษ เป็นยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันสว่างไสวเหมือนในปัจจุบัน แม้จะมีใช้บ้าง แต่ก็ติดๆ ดับๆ เพราะผลิตจากการเผาฟืน ซึ่งมีราคาแพงและทำลายป่า

          กรมชลประทานจึงมีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้วนำพลังน้ำนั้นมาผลิตไฟฟ้าแจกจ่ายให้ประชาชนตามบ้านเรือน

          ชื่อของ "เกษม จาติกวณิช" จึงเป็นที่รู้จักตั้งแต่บัดนั้นทั้งในฐานะคนไทยคนแรกที่เจรจากับธนาคารโลกสำเร็จ เพื่อขอกู้เงินถึง 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินกู้ก้อนมหาศาลในขณะนั้น มาสร้างเขื่อนภูมิพล เมื่อได้เงินกู้แล้ว นายเกษมยังบุกป่าฝ่าดงร่วมกับชาวเขื่อนจนก่อสร้างเขื่อน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำได้สำเร็จ

          นายเกษมจึงถือว่าเป็นผู้เปิดสวิตช์ไฟฟ้าดวงแรกของไทยให้สว่างไสวเจิดจ้ามาจนถึงทุกวันนี้ และทำให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คนแรก

          ระหว่างที่เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฯนี่เอง นายเกษมก็ได้รับการติดต่อให้ไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเลย และเป็นที่มาของฉายา "ซูเปอร์เค"ที่แผลงมาจาก "ซูเปอร์แมน"ชายหนุ่มที่มีความสามารถในหลายด้าน

          ครั้งนั้น "ซูเปอร์เค" ได้รับการติดต่อจาก นายนุกูลประจวบเหมาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ขณะนั้น ขอให้ไปเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเอเชียทรัสต์ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารสยาม ควบคู่กับการเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ

          ช่วงเวลา 3 ปี "ซูเปอร์เค" ได้เปลี่ยนธนาคารสยามจากที่ใกล้ล้มละลาย กลายมาเป็นธนาคารที่เริ่มทำกำไร และเรียกคืนหนี้สินได้หลายร้อยล้านบาท

          แต่สุดท้ายกระทรวงการคลังก็สั่งยุบกิจการให้ไปรวมกับธนาคารกรุงไทย

          แม้จะงุนงงและเสียดายอยู่บ้าง แต่ "ซูเปอร์เค" ก็โล่งใจที่ปลอดภาระจากธนาคารสยาม เนื่องจากก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เขาถูกนายสมหมาย ฮุนตระกูลรัฐมนตรีคลังขณะนั้นทาบทามให้เป็นประธานกรรมการ บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ (ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานเช่นเคย)

          แรกรับงาน "ซูเปอร์เค" คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรหนักหนาแต่เอาเข้าจริง ปัญหาในปุ๋ยแห่งชาติทำเอา "ซูเปอร์เค"นอนไม่หลับไปหลายคืน สุดท้ายต้องยื่นใบลาออก และเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ

          แต่จากผลงานในการ "ฟื้นฟู" และ "แก้ปัญหา" นี่เองทำให้ "ซูเปอร์เค" ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "กรรมการอำนวยการบริษัท ไทยออยล์" และต้องเข้าไปแก้ปัญหาที่เขาบอกว่าเป็น "วิกฤต" ถึง 3 ครั้ง

          ครั้งแรกคือการขอกู้เงินมาเพื่อขยายงานและเพิ่มประสิทธิภาพในโครงการไฮโรแครกเกอร์ ที่ต้องฝ่าด่านทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และธนาคารในและต่างประเทศผู้ให้กู้

          ครั้งที่สองคือการซื้อที่ดินที่ตั้งโรงกลั่น เพื่อเตรียมนำไทยออยล์เข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่เจอแรงเสียดทานด้านการเมืองตั้งแต่ต้น แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปได้

          และครั้งที่สามเป็นวิกฤตการบริหารคน ที่เดิมพนักงาน"ไทยออยล์"จะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ต่างคนต่างอยู่แยกคนละอาณาจักร มาเป็นไทยออยล์ที่สื่อสารกันด้วยภาษาไทย และอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี

          ช่วงชีวิตกว่า 50 ปี บุรุษผู้นี้ได้ใช้ชีวิตและการทำงานอย่างคุ้มค่า จากข้าราชการกรมชลประทาน ที่มีดีกรีปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาพลังงานน้ำ จากสหรัฐอเมริกามาเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ ระหว่างนั้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวงานธนาคาร งานในบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ก่อนเกษียณด้วยตำแหน่งบริหารในบริษัท ไทยออยล์ แม้เกษียณแล้วก็ยังทำงานในบริษัทรถไฟฟ้าธนายง หรือบีทีเอส ผู้สร้างรถไฟฟ้าสายแรกในไทย

          จนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เปิดสวิตช์ไฟดวงแรกของไทยก็ได้จากไปโดยสงบ

          ทิ้งไว้แต่ผลงาน ที่ใครเห็นแล้วต้องบอกว่าสมเป็น "ซูเปอร์เค" จริงๆ     

    ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 25 ต.ค.53

แด่...คุณเกษม...คนดีของแผ่นดิน โดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล

          เมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ทุกวันตอนเย็นเมื่อถึงหัวค่ำผมจะต้องไปที่เครื่อง Step-Up เพื่อเพิ่มแรงส่งไฟฟ้าไปยังหลอดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อให้ได้แสงสว่างเพียง

          พอและเครื่องโทรทัศน์แสดงภาพที่สว่างพอ เมื่อถึงตอนดึกก่อนนอนก็จะไปทำการ StepDown เราต้องทำกันอย่างนี้ทุกบ้านเพราะแรงส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไม่มากพอที่จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้เต็มความสามารถเมื่อใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลายๆ จุดภายในบ้าน ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ก็คล้ายกับการที่ต้องมีปั๊มน้ำไว้เพิ่มแรงส่งให้น้ำที่ใช้ในบ้านไหลแรงนั่นเอง

          ต่อมาเมื่อรัฐบาลสร้างเขื่อนยันฮีพร้อมโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในประเทศไทยเสร็จแล้ว กำลังไฟก็มีมากพอที่จะทำให้บ้านในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ที่สายส่งไฟไป         ถึงสว่างไสวพอสำหรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและผู้ที่รับผิดชอบสร้างโรงไฟฟ้าที่เขื่อนยันฮีก็คือคุณเกษม จาติกวณิช วิศวกรหนุ่มอายุ 30 กว่าปีซึ่งสามารถดูแลการก่อสร้างให้เสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น และถือว่ารวดเร็วมากเมื่อเทียบกับงานก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในสมัยนั้น ซึ่งแต่ละอย่างใช้เวลานานเหลือเกิน

          ประโยชน์สุขที่ได้รับทำให้คนกรุงในเวลานั้นพูดถึงคุณเกษมกันอย่างชื่นชม และยิ่งชื่นชมกันมากขึ้นเมื่องานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้การนำของคุณเกษมก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้น สร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งสามารถรองรับความเจริญของการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ทันการณ์และสามารถจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ได้ทั่วประเทศ กฟผ.ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ปลอดคอร์รัปชันปราศจากการโกงกินทุกชนิด

          ทั้งนี้ เพราะวัตรปฏิบัติของคุณเกษม ซึ่งเป็นคนสมถะ ซื่อตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัด และควบคุมดูแลไม่ให้มีการโกงกินอย่างเอาเป็นเอาตาย จนสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องนี้ได้สำเร็จ คน กฟผ. รุ่นหลังๆ ก็ยังรักษาวัฒนธรรมในเรื่องนี้ไว้ได้เป็นอย่างดี กิตติศัพท์การไม่เอาผลประโยชน์เข้าตนของคุณเกษมเป็นที่เลื่องลือ แม้กระทั่งบริษัท ล็อกซเล่ย์ ซึ่งเป็นธุรกิจของตระกูลของคุณหญิงชัชนีภรรยาของคุณเกษม ไม่เพียงแต่ไม่เคยขายของให้ กฟผ.ได้เลยเท่านั้น ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะเข้าเสนองานหรือเสนอขายของเลยด้วยซ้ำ

          นอกจากความซื่อตรงและความสามารถในการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วเป็นระบบแล้ว คุณเกษมยังมีความสามารถในการปกครองสูงมาก มีความเป็นกันเองให้แก่ลูกน้องทุกคน พูดได้เต็มปากว่าคน กฟผ. สมัยนั้นทุกคนรักและเกรงใจคุณเกษมเป็นอย่างมากวิศวกรที่อายุใกล้กันเรียกคุณเกษมว่าพี่ทุกคนด้วยคุณเกษมปฏิบัติตนอย่างสนิทสนม แต่ทุกคนก็ให้ความเคารพและไม่เคยลามปาม ผู้ใต้บังคับบัญชาที่อายุน้อยกว่ามากถึงกับเรียกคุณเกษมว่าพ่อกันเลยในสมัยนั้น

          ความเป็นคนมีความสามารถในการบริหารให้สัมฤทธิผลได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้คุณเกษมได้รับเชิญให้เข้ารับตำแหน่งสำคัญๆอีกมากมาย รวมทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ท่านก็ได้ริเริ่มเรื่องต่างๆ ให้แก่ประเทศชาติไว้อีกหลายเรื่อง ซึ่งผมไม่มีหน้ากระดาษพอที่จะบรรยายให้ครบถ้วนในที่นี้ ขอพูดถึงเฉพาะผลงานที่ กฟผ. ซึ่งประทับใจผมมาตั้งแต่เด็กชนิดที่ว่าผมจดจำวิธีการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณเกษมมาใช้ในชีวิตการทำงานของผมตลอดมา และยึดอยู่เสมอว่า "ถ้าจะให้คนอื่นเขานับถือเรา เราจะต้องทำงานให้เกิดผลได้ในระยะเวลาอันสั้น"

          คุณเกษม จาติกวณิช ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ทิ้งไว้แต่คุณความดีที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาตินานัปการ เป็นตัวอย่างของผู้มีคุณธรรมในการทำงานที่คนรุ่นหลังสามารถใช้เป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดีและผมก็เชื่อว่าคนที่ กฟผ. จำนวนไม่น้อยก็ยังคงยึดคุณเกษมเป็นแบบอย่างต่อไป ดังเช่นคนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยึดถือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นแบบอย่างนั่นเอง

          ด้วยความเคารพในคุณเกษม จาติกวณิชคนดีที่ผมกราบได้สนิทใจ

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 25 ต.ค.53

สกู๊ปหน้า1เดลินิวส์ : ร่วมอาลัย'ซูเปอร์เค''เกษม จาติกวณิช'ตำนาน..เจ้าพ่อพลังงาน


          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2553 "นายเกษมจาติกวณิช"ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งอย่างสงบ ในวัย86 ปี ถือเป็นการจากไปของบุคคลที่มีประวัติชีวิต และผลงานอันน่าสนใจอย่างยิ่งผู้หนึ่ง

          ประวัติของนายเกษม เป็นคนมีชาติตระกูลทีเดียว เพราะเป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนบุตรธิดา 8 คนของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ(หลุย จาติกวณิช) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ องคมนตรีในรัชกาลที่ 7 มีน้องชายคนหนึ่งชื่อไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นบิดาของขุนคลังปัจจุบัน กรณ์จาติกวณิช

          เท่ากับ เกษม เป็นลุงแท้ ๆ ของ กรณ์ จาติกวณิชนั่นเองผลงานที่ทำให้นายเกษมโด่งดังจนนักข่าวขนานนามเป็น"ซูเปอร์เค"ก็เพราะมีความสามารถทำงานได้หลากหลายจริง ๆ หลังจบคณะวิศวะจากจุฬาฯ แล้ว ได้เดินทางไปเรียนปริญญาโทวิศวะไฟฟ้าที่สหรัฐ กระทั่งสำเร็จกลับมารับราชการที่กรมโรงงาน

          ซึ่งขณะนั้นมีหน้าที่สร้างเขื่อน ก่อนย้ายมาขึ้นกับกรมชลประทาน สมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามโดยนายเกษมได้ย้ายมาที่กรมชลประทานด้วย และได้รับมอบหมายงานใหญ่ การสร้างเขื่อนยันฮี หรือ เขื่อนภูมิพลซึ่งถือเป็นต้นแบบของการสร้างเขื่อนสำคัญ ๆ ของไทยในเวลาต่อมาด้วย

          นายเกษมได้เขียนโครงการกู้เงินจากธนาคารโลกถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงมากสมัยนั้น แต่ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทำให้สั่งสมประสบการณ์การบริหารโครงการใหญ่ และด้านการเงินอย่างมาก

          เป็นประโยชน์ในการเข้าบริหารงานใหญ่ ๆ ในภายหลัง!!ผลงานชิ้นโบแดงครั้งนั้นทำให้นายเกษมได้เป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้ายันฮี ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และนายเกษมก็คือ ผู้ว่าการ กฟผ. คนแรกนั่นเอง

          ซูเปอร์เค มีส่วนอย่างมากในการวางระบบการผลิตไฟฟ้าให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในการกระจายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนในอันดับต้น ๆ ของเอเชีย สมกับสโลแกนของ กฟผ. ที่ว่า

          กฟผ. ไปทุกที่ ที่มีทางนอกจากเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนแรกแล้ว นายเกษมยังได้เข้าบริหารรัฐวิสาหกิจอีก 4 แห่ง ทั้งไทยออยล์, บางจากปิโตรเลี่ยม,ปุ๋ยแห่งชาติ และเอเชียทรัสต์ แต่ละแห่งมีปัญหาใหญ่ให้นายเกษมไปกู้สถานะทั้งสิ้น

          พูดกันว่า "การเข้าไปกินตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งนักการเมือง-ทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการ ส่วนมากมักเข้าไปสร้างฐานอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์" ไม่ได้สร้างสรรค์งานนัก สังคมจึงไม่ค่อยยอมรับ

          แต่ซูเปอร์เค ไม่สร้างฐานอำนาจ ไม่กอบโกยผลประโยชน์ผลงานหลายอย่างได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติ เช่น การแก้ปัญหาไทยออยล์ในปี 2528-2540 ก่อนฟองสบู่แตก ทำให้ไทยออยล์เกิดความมั่นคง กู้เงินได้เองโดยไม่ต้องมีรัฐบาลค้ำประกัน

          นิตยสารทรงอิทธิพลอย่าง ฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว(Far Eastern Economic Review) ถึงขนาดตั้งฉายาให้นายเกษมเป็น "เอนเนอร์ยี่ ซาร์ (Energy Tzar)"หรือ "ซาร์พลังงาน"หากแปลแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ ก็คือ เป็น "เจ้าพ่อพลังงาน"นั่นล่ะในระหว่างเป็นผู้ว่าการ กฟผ. นั้น รัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทาบทามให้เป็น รมว.อุตสาหกรรม แต่นายเกษมปฏิเสธ จนในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 1 และ 2 นายเกษมได้ยอมรับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ

          งานสุดท้ายของ "ซูเปอร์เค" ก็คือ การนั่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอสซี (BTSC) ตามคำเชิญชวนของ คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของโครงการ เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงนั้น เจอมรสุมสาหัส ทั้งเสียงคัดค้านต่อต้าน ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ

          เป็นช่วงเวลาที่ต้องการบิ๊กเนมอย่าง "ซูเปอร์เค" ให้มาช่วยบริหารจัดการที่สุด กระทั่งทุกวันนี้ รถไฟฟ้ากลายเป็นหัวใจสำคัญในการเดินทางของประชาชน มีแต่เสียงเรียกร้องให้ขยายเส้นทางเพิ่มและโดยเร็ว

          ผิดกับยุคก่อนราวฟ้ากับดิน

          นายเกษมได้สมรสกับคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช(สกุลเดิมล่ำซำ เป็นบุตรสาว นายโชติ ล่ำซำ และ นางน้อม อึ้งภากรณ์) คุณหญิงชัชนีเป็นนักธุรกิจสำคัญ และเป็นเจ้าของบริษัท ล็อกซเล่ย์จำกัด

          การจากไปของ "ซูเปอร์เค"จึงเป็นการสูญเสีย "บุคลากรที่มีค่าของชาติ"ในด้านต่าง ๆ ไปอย่างไม่มีวันกลับ คงฝากไว้แต่ผลงานให้คนรุ่นหลังได้กล่าวขวัญถึง มิรู้จางหาย

          วันนี้ 25 ตุลาคม ร่างของ "ซูเปอร์เค" จะได้รับการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส อย่างสมเกียรติ ก่อนที่จะขึ้นไปพำนัก ณ สรวงสวรรค์ชั้นฟ้า....ชั่วนิจนิรันดร์

          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 ต.ค.53

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Good Times With Super K

ด้วยความรัก ความประทับใจ และ ความอาลัย

วารสารข่าวของ กฟฝ -- "ด้วยรัก Super K "

การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้มอบพื้นที่ในวารสารข่าวประชาสัมพันธ์ ให้กับ คุณเกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตคนแรก ด้วยความรัก และความผูกพันที่มีต่อ Super K อย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
















คอลัมน์ ข่าวทะลุคน: ปิดตำนาน"ซูเปอร์เค"เกษม จาติกวณิช

          ล่วงไปแล้วในวัย 86 "ซูเปอร์เค"เกษมจาติกวณิชมือบริหารระดับชาติ มืออุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านพลังงาน
          ผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
          สร้างประวัติการณ์บริหารรัฐวิสาหกิจพร้อมกันถึง 4 แห่ง คือ ไทยออยล์ บางจากปิโตรเลียม ปุ๋ยแห่งชาติ และเอเชียทรัสต์
          รับสมญา "ซูเปอร์เค" อันมาจากชื่อเกษมและ "เจ้าพ่อพลังงาน"อดีต รมว.อุตสาหกรรม และรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ชมะนันทน์ 1 และ 2
          ในวัยอาวุโสยิ่ง รับเชิญเป็นประธานกรรมการบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี
          เกิด 18 มีนาคม 2467 คู่ชีวิตคุณหญิงชัชนี(ล่ำซำ) และเป็นลุงของรมว.คลัง กรณ์ จาติกวณิ
          วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาไฟฟ้าและสาขาเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปริญญาโทวิศวะไฟฟ้า มหาวิทยาลัยยูทาห์สหรัฐอเมริกา
          กลับมารับราชการที่กรมโรงงานซึ่งมีหน้าที่ก่อสร้างเขื่อน ก่อนโยกไปกรมชลประทาน
          รับผิดชอบงานใหญ่สร้างเขื่อนยันฮี
          ต้องทำรายงานเพื่อเสนอขอกู้เงินจากธนาคารโลก 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น
          สะสมมาทั้งความรู้ในการบริหารโครงการและบริหารการเงิน
          เป็นรองผู้ว่าการไฟฟ้ายันฮี
          เมื่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือขึ้นที่อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ก่อนกลายสภาพเป็นกฟผ. ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนแรก
          วัย 67 เข้ามีบทบาทสำคัญยิ่งที่ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายแรกของไทย เปิดบริการได้สำเร็จล
          บั้นปลาย ป่วยโรคมะเร็ง ก่อนจากไปอย่างสงบฝากไว้ ตำนานซูเปอร์เคแห่งโลกธุรกิจและพลังงาน

ที่มา : ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"เกษม จาติกวณิช"ถึงแก่อนิจกรรม - กรุงเทพธุรกิจ

           นายเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าการ กฟผ.คนแรก ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว อายุรวม 87 ปี จัดพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันจันทร์นี้ เวลา 17.30 น.

          วานนี้ (17 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. นายเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนแรก ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริรวมอายุ 87 ปี

          ในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ผู้แทนในพระองค์เป็นประธานในพิธีรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 17.30 น. และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสวดพระอภิธรรมศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 20 ตุลาคม 2553 เวลา 19.00 น. หลังจากนั้นจะมีการสวดพระอภิธรรมต่อ ระหว่างวันที่ 21 ถึง 24 ตุลาคม 2553 ณ บ้านพักสนามกอล์ฟเลค วูด จ.สมุทรปราการ โดยจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2553 เวลา 17.00 น. ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ

          ในการนี้ เจ้าภาพขอความกรุณางดพวงหรีด

          ประวัติโดยสังเขป นายเกษม จาติกวณิช วัน เดือน ปีเกิด 18 มีนาคม 2467 จังหวัดกรุงเทพฯ บิดา พระยาอธิกรณ์ประกาศ มารดา คุณหญิงเสงี่ยม จาติกวณิช สมรสกับคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช (สกุลเดิม ล่ำซำ) มีบุตร 2 คนคือนายวสันต์ จาติกวณิช และนายวิชญา จาติกวณิช ประวัติพอสังเขป เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ.ช่วงปี 2512-2528 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2516 เป็นกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด ปี 2518 และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ช่วงปี 2539-2549

          รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษในปี 2519 ต่อมาในปี 2546 ได้รับรางวัลนักนิวเคลียร์เกียรติคุณ สาขาส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ปี 2550 รับรางวัลแทนคุณแผ่นดิน สาขาพลังงาน จากบริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และในปีเดียวกันนี้ ได้รับการประกาศเกียรติคุณ "วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น" ของสมาคมนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"ซูเปอร์เค"ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย87 - น.ส.พ.คมชัดลึก

"ซูเปอร์เค" เกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าการ กฟผ.คนแรก ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ สิริอายุ 87 ปี พระราชทานน้ำหลวงอาบศพจันทร์ที่ 18 ต.ค. เวลา 17.30 น. พร้อมรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 3 วัน

          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 17 ตุลาคม นายเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนแรก ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุ 87 ปี ทั้งนี้ วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปเป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงพระมหากรุณาธิคุณรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-20 ตุลาคม เวลา 19.00 น. หลังจากนั้นจะมีการสวดพระอภิธรรมต่อ ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม ณ บ้านพักสนามกอล์ฟเลควูด จ.สมุทรปราการ โดยจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพวันที่ 25 ตุลาคม 2553 เวลา 17.00 น. ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ในการนี้เจ้าภาพขอความกรุณางดพวงหรีด

          นายเกษม จาติกวณิช เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2467 เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนบุตรธิดา 8 คนของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 กับ คุณหญิงเสงี่ยม จาติกวณิช สมรสกับคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช (สกุลเดิม ล่ำซำ บุตรสาวนายโชติ ล่ำซำ และนางน้อม (อึ๊งภากรณ์) มีบุตร 2 คน คือ 1.นายวสันต์ จาติกวณิช และ 2.นายวิชญา จาติกวณิช และมีศักดิ์เป็นลุงของนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า และสาขาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2490 เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

          งานแรกที่ต้องรับผิดชอบคือ การสร้างเขื่อนยันฮี หรือเขื่อนภูมิพล โดยต้องทำรายงานเพื่อเสนอขอกู้เงินจากธนาคารโลก จำนวนถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่นับว่าสูงมากในสมัยนั้น และทำให้นายเกษมมีโอกาสได้สะสมความรู้ในการบริหารโครงการ และบริหารการเงิน เป็นอย่างมาก

          หลังเขื่อนภูมิพลก่อสร้างแล้วเสร็จ นายเกษมได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการการไฟฟ้ายันฮี ต่อมาได้สร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี กระทั่งการไฟฟ้ายันฮีกลายสภาพเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายเกษมจึงได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.คนแรก ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายเกษมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และในรัฐบาล "เกรียงศักดิ์ 2" ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษานายกฯ

          หลังจากลาออกจาก กฟผ. นายเกษมได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในคราวเดียวกันถึง 4 แห่ง คือ เป็น กรรมการอำนวยการบริษัทไทยออยล์, ประธานกรรมการบริษัทบางจาก ปิโตรเลียม, ประธานกรรมการบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ และประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหารแบงก์เอเชียทรัสต์

          ต่อมาใน พ.ศ.2543 นายเกษมได้ตอบรับคำเชิญของ นายคีรี กาญจนพาสน์ มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ในวัย 67 ปี โดยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายแรกของไทยสามารถเปิดให้บริการต่อสาธารณะได้สำเร็จ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร มาจนถึงปัจจุบัน

          จากฝีมือการบริหารหน่วยงานต่างๆ จนประสบความสำเร็จ นายเกษมจึงได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่า "ซูเปอร์เค" และ "เจ้าพ่อพลังงาน"

ข่าวโดย : น.ส.พ.คมชัดลึก