วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สกู๊ปหน้า1เดลินิวส์ : ร่วมอาลัย'ซูเปอร์เค''เกษม จาติกวณิช'ตำนาน..เจ้าพ่อพลังงาน


          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2553 "นายเกษมจาติกวณิช"ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งอย่างสงบ ในวัย86 ปี ถือเป็นการจากไปของบุคคลที่มีประวัติชีวิต และผลงานอันน่าสนใจอย่างยิ่งผู้หนึ่ง

          ประวัติของนายเกษม เป็นคนมีชาติตระกูลทีเดียว เพราะเป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนบุตรธิดา 8 คนของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ(หลุย จาติกวณิช) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ องคมนตรีในรัชกาลที่ 7 มีน้องชายคนหนึ่งชื่อไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นบิดาของขุนคลังปัจจุบัน กรณ์จาติกวณิช

          เท่ากับ เกษม เป็นลุงแท้ ๆ ของ กรณ์ จาติกวณิชนั่นเองผลงานที่ทำให้นายเกษมโด่งดังจนนักข่าวขนานนามเป็น"ซูเปอร์เค"ก็เพราะมีความสามารถทำงานได้หลากหลายจริง ๆ หลังจบคณะวิศวะจากจุฬาฯ แล้ว ได้เดินทางไปเรียนปริญญาโทวิศวะไฟฟ้าที่สหรัฐ กระทั่งสำเร็จกลับมารับราชการที่กรมโรงงาน

          ซึ่งขณะนั้นมีหน้าที่สร้างเขื่อน ก่อนย้ายมาขึ้นกับกรมชลประทาน สมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามโดยนายเกษมได้ย้ายมาที่กรมชลประทานด้วย และได้รับมอบหมายงานใหญ่ การสร้างเขื่อนยันฮี หรือ เขื่อนภูมิพลซึ่งถือเป็นต้นแบบของการสร้างเขื่อนสำคัญ ๆ ของไทยในเวลาต่อมาด้วย

          นายเกษมได้เขียนโครงการกู้เงินจากธนาคารโลกถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงมากสมัยนั้น แต่ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทำให้สั่งสมประสบการณ์การบริหารโครงการใหญ่ และด้านการเงินอย่างมาก

          เป็นประโยชน์ในการเข้าบริหารงานใหญ่ ๆ ในภายหลัง!!ผลงานชิ้นโบแดงครั้งนั้นทำให้นายเกษมได้เป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้ายันฮี ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และนายเกษมก็คือ ผู้ว่าการ กฟผ. คนแรกนั่นเอง

          ซูเปอร์เค มีส่วนอย่างมากในการวางระบบการผลิตไฟฟ้าให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในการกระจายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนในอันดับต้น ๆ ของเอเชีย สมกับสโลแกนของ กฟผ. ที่ว่า

          กฟผ. ไปทุกที่ ที่มีทางนอกจากเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนแรกแล้ว นายเกษมยังได้เข้าบริหารรัฐวิสาหกิจอีก 4 แห่ง ทั้งไทยออยล์, บางจากปิโตรเลี่ยม,ปุ๋ยแห่งชาติ และเอเชียทรัสต์ แต่ละแห่งมีปัญหาใหญ่ให้นายเกษมไปกู้สถานะทั้งสิ้น

          พูดกันว่า "การเข้าไปกินตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งนักการเมือง-ทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการ ส่วนมากมักเข้าไปสร้างฐานอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์" ไม่ได้สร้างสรรค์งานนัก สังคมจึงไม่ค่อยยอมรับ

          แต่ซูเปอร์เค ไม่สร้างฐานอำนาจ ไม่กอบโกยผลประโยชน์ผลงานหลายอย่างได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติ เช่น การแก้ปัญหาไทยออยล์ในปี 2528-2540 ก่อนฟองสบู่แตก ทำให้ไทยออยล์เกิดความมั่นคง กู้เงินได้เองโดยไม่ต้องมีรัฐบาลค้ำประกัน

          นิตยสารทรงอิทธิพลอย่าง ฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว(Far Eastern Economic Review) ถึงขนาดตั้งฉายาให้นายเกษมเป็น "เอนเนอร์ยี่ ซาร์ (Energy Tzar)"หรือ "ซาร์พลังงาน"หากแปลแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ ก็คือ เป็น "เจ้าพ่อพลังงาน"นั่นล่ะในระหว่างเป็นผู้ว่าการ กฟผ. นั้น รัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทาบทามให้เป็น รมว.อุตสาหกรรม แต่นายเกษมปฏิเสธ จนในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 1 และ 2 นายเกษมได้ยอมรับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ

          งานสุดท้ายของ "ซูเปอร์เค" ก็คือ การนั่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอสซี (BTSC) ตามคำเชิญชวนของ คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของโครงการ เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงนั้น เจอมรสุมสาหัส ทั้งเสียงคัดค้านต่อต้าน ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ

          เป็นช่วงเวลาที่ต้องการบิ๊กเนมอย่าง "ซูเปอร์เค" ให้มาช่วยบริหารจัดการที่สุด กระทั่งทุกวันนี้ รถไฟฟ้ากลายเป็นหัวใจสำคัญในการเดินทางของประชาชน มีแต่เสียงเรียกร้องให้ขยายเส้นทางเพิ่มและโดยเร็ว

          ผิดกับยุคก่อนราวฟ้ากับดิน

          นายเกษมได้สมรสกับคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช(สกุลเดิมล่ำซำ เป็นบุตรสาว นายโชติ ล่ำซำ และ นางน้อม อึ้งภากรณ์) คุณหญิงชัชนีเป็นนักธุรกิจสำคัญ และเป็นเจ้าของบริษัท ล็อกซเล่ย์จำกัด

          การจากไปของ "ซูเปอร์เค"จึงเป็นการสูญเสีย "บุคลากรที่มีค่าของชาติ"ในด้านต่าง ๆ ไปอย่างไม่มีวันกลับ คงฝากไว้แต่ผลงานให้คนรุ่นหลังได้กล่าวขวัญถึง มิรู้จางหาย

          วันนี้ 25 ตุลาคม ร่างของ "ซูเปอร์เค" จะได้รับการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส อย่างสมเกียรติ ก่อนที่จะขึ้นไปพำนัก ณ สรวงสวรรค์ชั้นฟ้า....ชั่วนิจนิรันดร์

          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 ต.ค.53

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอฝากแนวข้อสอบกรมชลประทานด้วยค่ะ โหลดแนวข้อสอบฟรีที่ >> http://kromcholfile.blogspot.com/

    ตอบลบ