วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มติชน คอลัมน์: เดินหน้าชน: 'ซูเปอร์เค'


โดยเสาวรส รณเกียรติ

          ช่วงปี พ.ศ.2490 เศษ เป็นยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันสว่างไสวเหมือนในปัจจุบัน แม้จะมีใช้บ้าง แต่ก็ติดๆ ดับๆ เพราะผลิตจากการเผาฟืน ซึ่งมีราคาแพงและทำลายป่า

          กรมชลประทานจึงมีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้วนำพลังน้ำนั้นมาผลิตไฟฟ้าแจกจ่ายให้ประชาชนตามบ้านเรือน

          ชื่อของ "เกษม จาติกวณิช" จึงเป็นที่รู้จักตั้งแต่บัดนั้นทั้งในฐานะคนไทยคนแรกที่เจรจากับธนาคารโลกสำเร็จ เพื่อขอกู้เงินถึง 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินกู้ก้อนมหาศาลในขณะนั้น มาสร้างเขื่อนภูมิพล เมื่อได้เงินกู้แล้ว นายเกษมยังบุกป่าฝ่าดงร่วมกับชาวเขื่อนจนก่อสร้างเขื่อน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำได้สำเร็จ

          นายเกษมจึงถือว่าเป็นผู้เปิดสวิตช์ไฟฟ้าดวงแรกของไทยให้สว่างไสวเจิดจ้ามาจนถึงทุกวันนี้ และทำให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คนแรก

          ระหว่างที่เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฯนี่เอง นายเกษมก็ได้รับการติดต่อให้ไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเลย และเป็นที่มาของฉายา "ซูเปอร์เค"ที่แผลงมาจาก "ซูเปอร์แมน"ชายหนุ่มที่มีความสามารถในหลายด้าน

          ครั้งนั้น "ซูเปอร์เค" ได้รับการติดต่อจาก นายนุกูลประจวบเหมาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ขณะนั้น ขอให้ไปเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเอเชียทรัสต์ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารสยาม ควบคู่กับการเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ

          ช่วงเวลา 3 ปี "ซูเปอร์เค" ได้เปลี่ยนธนาคารสยามจากที่ใกล้ล้มละลาย กลายมาเป็นธนาคารที่เริ่มทำกำไร และเรียกคืนหนี้สินได้หลายร้อยล้านบาท

          แต่สุดท้ายกระทรวงการคลังก็สั่งยุบกิจการให้ไปรวมกับธนาคารกรุงไทย

          แม้จะงุนงงและเสียดายอยู่บ้าง แต่ "ซูเปอร์เค" ก็โล่งใจที่ปลอดภาระจากธนาคารสยาม เนื่องจากก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เขาถูกนายสมหมาย ฮุนตระกูลรัฐมนตรีคลังขณะนั้นทาบทามให้เป็นประธานกรรมการ บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ (ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานเช่นเคย)

          แรกรับงาน "ซูเปอร์เค" คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรหนักหนาแต่เอาเข้าจริง ปัญหาในปุ๋ยแห่งชาติทำเอา "ซูเปอร์เค"นอนไม่หลับไปหลายคืน สุดท้ายต้องยื่นใบลาออก และเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ

          แต่จากผลงานในการ "ฟื้นฟู" และ "แก้ปัญหา" นี่เองทำให้ "ซูเปอร์เค" ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "กรรมการอำนวยการบริษัท ไทยออยล์" และต้องเข้าไปแก้ปัญหาที่เขาบอกว่าเป็น "วิกฤต" ถึง 3 ครั้ง

          ครั้งแรกคือการขอกู้เงินมาเพื่อขยายงานและเพิ่มประสิทธิภาพในโครงการไฮโรแครกเกอร์ ที่ต้องฝ่าด่านทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และธนาคารในและต่างประเทศผู้ให้กู้

          ครั้งที่สองคือการซื้อที่ดินที่ตั้งโรงกลั่น เพื่อเตรียมนำไทยออยล์เข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่เจอแรงเสียดทานด้านการเมืองตั้งแต่ต้น แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปได้

          และครั้งที่สามเป็นวิกฤตการบริหารคน ที่เดิมพนักงาน"ไทยออยล์"จะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ต่างคนต่างอยู่แยกคนละอาณาจักร มาเป็นไทยออยล์ที่สื่อสารกันด้วยภาษาไทย และอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี

          ช่วงชีวิตกว่า 50 ปี บุรุษผู้นี้ได้ใช้ชีวิตและการทำงานอย่างคุ้มค่า จากข้าราชการกรมชลประทาน ที่มีดีกรีปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาพลังงานน้ำ จากสหรัฐอเมริกามาเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ ระหว่างนั้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวงานธนาคาร งานในบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ก่อนเกษียณด้วยตำแหน่งบริหารในบริษัท ไทยออยล์ แม้เกษียณแล้วก็ยังทำงานในบริษัทรถไฟฟ้าธนายง หรือบีทีเอส ผู้สร้างรถไฟฟ้าสายแรกในไทย

          จนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เปิดสวิตช์ไฟดวงแรกของไทยก็ได้จากไปโดยสงบ

          ทิ้งไว้แต่ผลงาน ที่ใครเห็นแล้วต้องบอกว่าสมเป็น "ซูเปอร์เค" จริงๆ     

    ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 25 ต.ค.53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น